หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทศกาลในประเทศฝรั่งเศส

ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งเทศกาล
งานฉลองที่มีสีสันและสนุกสนานตั้งแต่เช้ายันค่ำ จะหมุนเวียนจัดกันไปจัดตามเมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส
งานเทศกาลที่จัดกันในปัจจุบันล้วนเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต หมู่บ้านแต่ละแห่งจะต้องมีงานฉลองของตน และในแต่ละเมืองจะต้องมีเทศกาลของดีของเด่นประจำปีไว้สนุกสนานกัน เช่น งานเดินขบวนคนยักษ์ (คนต่อขา) ของทางตอนเหนือของฝรั่งเศส งานคาร์นิวัลเมืองนีซ (Nice) งาน Ferias เมืองนีมส์ (Nîmes) และเมืองอาร์ล (Arles) งานประจำปีเมืองบายอน (Bayonne) หรือเมืองเบซิเยส์ (Béziers) ฯลฯ งานเหล่านี้เป็นที่รวมความสนุกสนานของชาวเมืองซึ่งยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นให้มาร่วมความบันเทิงด้วยกัน นอกจากงานเทศกาลต่างๆ ในเขตภูมิภาคแล้ว ฝรั่งเศสยังมีงานสำคัญประจำปีระดับชาติอีก 2 งาน ซึ่งทุกเมืองจะเฉลิมฉลองพร้อมๆ กัน งานแรกคืองานวันชาติ 14 กรกฎาคมซึ่งเป็นวันสำคัญที่เปิดตัวด้วยการสวนสนามของทหารเหล่าต่างๆ และจัดขึ้นอย่างใหญ่โตที่ถนนชองส์-เอลิเซ่ส์ (Champs-Elysées) อันเลื่องชื่อของปารีส พอถึงกลางคืนจะมีการจุดดอกไม้ไฟที่สวยงามตระการตา และมีงานเต้นรำที่สนุกสนานแบบฝรั่งเศสแท้ ส่วนตามเมืองใหญ่ๆ มักจัดการแสดงดนตรีกลางแจ้งให้ชมกันโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู งานใหญ่งานที่สองคือ เทศกาลดนตรีซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 21 มิถุนายน เทศกาลนี้เปิดโอกาสให้คนรักดนตรีทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้แสดงความสามารถกันเต็มที่และสุดเหวี่ยงในท้องถนนและทุกหนทุกแห่ง นอกจากนี้ยังมีเทศกาลเพลงคลาสสิค ละคร ละครสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมายตลอดทั้งปี เพียงเท่านี้คุณก็คงพอรู้แล้วว่าในฝรั่งเศสความสนุกสนานเพลิดเพลินนั้นไม่มีการเว้นวรรคจริงๆ



ตำนานไข่อีสเตอร์
ในวันที่ 8 เมษายนที่จะถึงนี้จะเป็นวันเริ่มแรกของ เทศกาลอีสเตอร์ และนับเนื่องต่อไปจนครบเดือน ชาวคริสต์ทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้กันอย่างมาก นอกจากจะมีประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดต่อๆ กันมาแล้ว ชาวยุโรปจะถือว่าหลังพ้นฤดูหนาวอันน่าเบื่อหน่ายแล้ว ก็จะได้เริ่มต้นรับฤดูใบไม้ผลิอันสดใสด้วยการท่องเที่ยวกันอย่างสนุกสนาน

ชาวคริสต์เชื่อกันว่า วัน EASTER คือวันกลับฟื้นคืนชีพของพระเยซู และถือกันว่า “ไข่” เป็นอาหารที่สามารถบริโภคได้เช่นเดียวกับนมและเนย ซึ่งไข่เป็นผลิตผลที่ได้จากสัตว์ โดยไม่ต้องทำการฆ่าให้เลือดตกยางออก และชาวคริสต์ในนิกาย ออร์โธดอกซ์ ถือเป็นประเพณีที่จะให้ไข่ทาสีแดงแก่เพื่อนสนิทในช่วงเทศกาลอีสเตอร์

ซึ่งประเพณีนี้เริ่มจาก Mary Magdalene สตรีผู้มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่คริสตกาล ภาพหลังจากที่พระเยซูคริสต์เสด็จสู่สวรรค์ โดยที่นางได้เดินทางไปยังกรุงโรมและตะโกนร้องต่อหน้าองค์จักรพรรดิว่า “พระคริสต์ทรงฟื้นแล้ว” และได้มีการมอบไข่ทาสีแดงให้กับองค์จักรพรรดิด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไข่จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของเทศกาลนี้

ไข่สีแดงยังเป็นสัญลักษณ์ของหลุมฝังศพและชีวิตใหม่ โดยตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณชาวอียิปต์และชาวกรีกจะฝังไข่ลงไปในหลุมฝังศพ ชาวโรมันก็กล่าวว่า “ชีวิตทั้งปวงมาจากไข่” ซึ่งชาวคริสต์ก็น่าจะได้รับความเชื่อนี้ตกทอดมาจากคนโบราณเช่นกัน

เมื่อตอกเปลือกไข่ให้แตกออก สีแดงคือสีของโลหิตแห่งพระคริสต์ผู้ไถ่บาปให้แก่ชาวโลก และฟองไข่หมายถึงชีวิตใหม่ภายหลังการคืนชีพของพระองค์ ในช่วงถือศีลไข่เป็นอาหารต้องห้าม แต่เมื่อพ้นวาระดังกล่าว ไข่ที่ต้มสุกก็หมายถึงการถนอมอาหารไม่ให้สูญเปล่า ซึ่งชาวสเปนก็ได้ปรุงอาหารชื่อ Hornazo ขึ้น เพื่อบริโภคในช่วงเทศกาลนี้ ที่ตกแต่งด้วยไข่ต้มเป็นสาระสำคัญ

ส่วนทางตอนเหนือของอังกฤษก็มีการต้มไข่แล้วนำมาเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง โดยใช้ไข่ต้มสุกมาชนไข่ของผู้อื่นให้แตก หากไข่ของใครที่ยังคงรูปเดิมอยู่ถือเป็นผู้ชนะ หรือไม่ก็มีการกลิ้งไข่ต้มสุกลงจากเนินเขา ไข่ของใครกลิ้งไปได้ไกลที่สุดจะเป็นผู้ชนะ เหล่านี้คือการเล่นที่ใช้ไข่ต้มสุกมาเป็นอุปกรณ์ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวนี้

ในช่วงของฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านพ้นไปคือ ฤดูแห่งการถือบวชในศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นฤดูที่เคร่งครัดและจำกัดในเรื่องของอาหารการกิน เทศกาลอีสเตอร์ซึ่งเริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิคือสิ่งที่สร้างชีวิตชีวาให้สดใส จึงต้องมีการปรุงอาหารมื้อพิเศษเพื่อต้อนรับเทศกาลนี้ โดยในวันเริ่มต้นของเทศกาลนี้ จะมีประเพณีที่ทุกครอบครัวจะมากินอาหารร่วมกัน ซึ่งอาหารที่นิยมทำต้อนรับเทศกาลนี้ อาทิ

Boiled Eggs ไข่ต้มจะถูกเสิร์ฟเป็นอาหารเช้า โดยเรียงมาอย่างสวยงามในตะกร้าสาน และมีการให้การ์ดและของขวัญต่อกัน

Roast Lamb แกะอบ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารจานสำคัญของเทศกาล จะถูกเสิร์ฟพร้อมกับมินท์ซอสและผักต่างๆ

Simnel Cake เป็นขนมที่นิยมกันในอังกฤษและไอร์แลนด์ ที่นิยมบริโภคในช่วงเทศกาลนี้พร้อมกับน้ำชา เป็นเค้กผลไม้หรือฟรุตเค้กคล้ายกับที่ทำขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส หากแต่จะมีการตกแต่งด้วย marzipan ซึ่งทำจากอัลมอนด์เป็นก้อนกลม มาเรียงรายรอบบนหน้าเค้ก 11 ก้อน อันหมายถึงอัครสาวกทั้ง 11 องค์ (ไม่รวม Judas ศิษย์ทรยศ)

Easter Biscuits หรือจะเรียกว่า “เค้ก” ก็ย่อมได้ ทำขึ้นสำหรับรับประทานในวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เค้กนี้จะใส่เครื่องเทศ ลูกองุ่น และผลไม้แห้ง และผิวส้มขูด

ส่วนของขวัญที่มอบให้กันนั้น เดิมทีเป็นการนำไข่นกมาต้มและทาสีเปลือกให้มีสีสันที่สดใสให้เห็นถึงความหมายของแสงอาทิตย์ที่สดใสในฤดูใบไม้ผลิ แต่ในเวลาต่อมาก็เป็นการมอบไข่ที่ทำจากช็อกโกแลต หุ้มด้วยกระดาษตะกั่วอาบสีต่างๆ บ้าง หรือมิฉะนั้น ก็เป็นถั่วเคลือบน้ำตาลสี และบางครั้งก็ทำเป็นรูปตัวกระต่าย อันเป็นสัตว์ที่นิยมวาดกันในสมัยวิกตอเรียนบนการ์ด ก่อนที่ภาพหลังจะมีการสร้างด้วยวัสดุอื่นที่กินได้

ในประเทศรัสเซียเมื่อครั้งยังปกครองโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายในราชวงศ์ โรมานอฟต่างนิยมสั่งช่างทอง Faberge ให้ทำไข่จากทองคำและโลหะมีค่า ประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ หรือมิฉะนั้น ก็ใช้วิธีประดับด้วยการลงยาเป็นสีต่างๆ โดยเฉพาะ สีชมพูเข้ม

พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ II คือกษัตริย์ที่โปรดปรานไข่ทองลงยาฝีมือของ Faberge ที่สุด ทรงโปรดให้ทำขึ้นเพื่อพระราชทานให้แก่พระมเหสี และพระประยูรญาติสตรีหลายพระองค์ เป็นสมบัติที่ตกทอดไปทั่วยุโรป และเป็นศิลปวัตถุที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นที่ต้องการของนักนิยมของเก่าเป็นอย่างมาก มีการนำออกประมูลโดยตัวแทนที่มีชื่อเสียงบ่อยครั้ง

นักวิชาการทางด้านศาสนาได้ยอมรับต้นตอที่มาของคำว่าอีสเตอร์ซึ่งศึกษาโดยนักวิชาการทางด้านศาสนาชาวอังกฤษอังกฤษในศตวรรษที่8 ที่ชื่อว่าเซนต์ เบเด(St.Bede) ซึ่งเชื่อว่า ชื่อ"Easter" นั้นมาจากภาษาสแกนดิเนเวียนว่า"OSTRA" และในภาษาทิวโทนิค(ภาษาพื้นเมืองสแกนดิเนวีย)ว่า"Ostern" หรือ "Eastre" ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาแห่งเทพปกรณัมผู้ที่นำฤดูใบไม้ผลิและการเจริญพันธุ์และยังเป็นผู้ที่ถูกสักการะและเฉลิมฉลองในวันที่เรียกว่าVernal Equinox(วันในฤดูใบไม้ผลิที่มีกลางวันและกลางคืนเท่าๆกันพอดี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น