หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กระทกรก


ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ รก กระโปรงทอง ละพุบาบี หญ้ารกช้าง (ใต้) ตำลึงฝรั่ง เป็นไม้เถาเลื้อยคล้ายตำลึง เถาค่อนข้างคดไปงอมา เถามีหนามเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ห่าง ๆ โดยทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบมนโค้งผิวเรียบปลายใบแหลมโดยแยกเป็นสามแฉก ใบและเส้นใบบริเวณที่ติดต่อกันมีสีแดงเรื่อ บริเวณใกล้โคนก้านใบมีแฉกแหลมเล็กเรียงตรงกันข้ามสลับกัน ก้านใบ มีขนาดก้านไม้ขีด ยาว 5 –6 เซนติเมตร มีขนอ่อนเป็นฝอยขนาดเล็ก ดอกมีลักษณะก้านดอกยาวกว่าใบ ดอกบานออกกลมกว้าง กลีบดอกสีขาวแซมด้วยริ้วสีม่วง ผลค่อนข้างกลมขนาดปลายนิ้วมือ และห่อหุ้มด้วย “รก” ผลสุกมีสีเหลือง

กระทกรก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora foetida L.; ชื่อภาษาอังกฤษ: Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passionflower)
ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด นิเวศวิทยาและการแพร่กระจายขึ้นอยู่ตามที่รกร้างหรือขอบไร่ชายนา และบริเวณป่าพื้นราบ โดยเลื้อยพันกิ่งต้นไม้อื่น ๆ

ประโยชน์ทางด้านอาหาร ยอด ใช้เป็นผักสด มีรสขมเล็กน้อย หรือลวกจิ้มกับน้ำพริกและใช้แกงเลียง ผล ใช้กินเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ด ทางด้านสมุนไพร เนื้อไม้ ใช้เป็นยาควบคุมธาตุ ถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิดและใช้รักษาบาดแผล ราก ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไข แก้กามโรค ใบ ใช้ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาเบื่อและขับพยาธิ ดอก ขับเสมหะ แก้ไอ ผล แก้ปวด บำรุงปอด ใบสด ใช้พอกแก้สิว ต้น ใช้ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ และอาการบวม

กระทกรก / เสาวรส (Passion Fruit)
กระทกรก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เสาวรสเป็นผลไม้ที่ช่วยบำรุงสายตา และผิวพรรณ เนื่องจากมีวิตามินเอ สูง ทั้งยังช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ลดไขมันในเส้นเลือด และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในเสาวรสนั้นมีวิตามินซี สูง คือ ๓๙.๑ มก./๑๐๐ มก. ซึ่งมีมากกว่ามะนาวเสียอีก


เพิ่มเติม
เสาวรสหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กระทกรกฝรั่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Passion Fruit เป็นไม้ผลที่อยู่ในตระกูล Passifloraceae เสาวรสมี 2 ชนิดคือชนิดผลสีม่วง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passifloraedulis และผลสีเหลืองที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า P. edulis F. flavicarpa
โดยทั่วไปแล้วเสาวรสเป็นผลไม้อุตสาหกรรมคือปลูกเพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้เนื่องจากในผลมีน้ำมาก รสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมแต่ก็สามารถรับประทานผลสดได้ โดยเฉพาะบางพันธุ์ที่ผลมีรสชาติค่อนข้างหวาน สำหรับในประเทศไทยนั้นได้นำเสาวรสเข้ามาปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 โดยเป็นพันธุ์สีม่วง ต่อมาได้มีผู้นำเข้ามาปลูกอีกในอีกหลายพื้นที่ทั้งพันธุ์ผลสีม่วงและผลสีเหลือง จนกระทั่งได้มีการปลูกเป็นการค้ากันทั่วไปแต่ก็ปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูปเท่านั้น โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ ระยอง ตราด ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ชุมพร นราธิวาสและสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่จำหน่ายเพื่อบริโภคสดนั้นไม่ใช่พันธุ์สำหรับรับประทานผลสดโดยตรง แต่เป็นการคัดเอาผลผลิตเสาวรสพันธุ์สำหรับแปรรูปบางพันธุ์ที่มีรสชาติค่อนข้างดี เช่น พันธุ์ผลสีม่วงมาจำหน่ายเป็นเสาวรสรับประทานสดแทน
ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธิโครงการหลวงและกรมวิชาการเกษตร ได้มีการพยายามวิจัยหาพันธุ์เสาวรสสำหรับประทานสดโดยเฉพาะ เนื่องจากผลผลิตเสาวรสสำหรับรับประทานสดมีราคาสูงกว่าเสาวรสสำหรับแปรรูปมาก ในส่วนของมูลนิธิโครงการหลวงนั้นได้มีการวิจัยหาพันธุ์เสาวรสสำหรับรับประทานสดมานานแล้วโดยได้นำเสาวรสสายพันธุ์จากประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลียและไต้หวัน มาปลูกทดสอบในสถานีต่าง ๆ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงปางดะ, อินทนนท์, ห้วยลึก และแม่ลาน้อย เป็นต้น แต่ในระยะแรกยังไม่มีพันธุ์ไดที่มีลักษณะครบถ้วนตามที่ต้องการคือ ผลผลิตมีรสชาติดีซึ่งต้องค่อนข้างหวาน ขนาดผลใหญ่ให้ผลผลิตสูงและปลูกง่าย เนื่องจากพบว่าเสาวรสพันธุ์สำหรับรับประทานสดส่วนใหญ่ที่รสชาติดี แต่ผลมักจะมีขนาดเล็กให้ผลผลิตต่ำและค่อนข้างอ่อนแอ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 จึงประสบความสำเร็จคัดเลือกได้เสาวรสพันธุ์รับประทานสดที่มีลักษณะตามต้องการ 2 สายพันธุ์ โดยคัดเลือกจากต้นที่เพาะเมล็ดจากเสาวรสสายพันธุ์จากประเทศไต้หวัน และได้นำออกส่งเสริมในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งพบว่าผลผลิตเป็นที่ยอมรับและต้องการของผู้บริโภคมาก ทำให้ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและต้องเร่งขยายการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตอันใกล้เสาวรสรับประทานสดจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เสาวรสที่ถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของฟื้นที่สูงในอเมริกาได้เป็นไม้ประเภทเลื้อยมีอายุหลายปีลักษณะดอกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ แต่เสาวรสบางพันธุ์คือพันธุ์ผลสีเหลืองส่วนใหญ่ผสมตัวเองไม่ติดต้องผสมข้ามต้น ดอกเสาวรสจะเกิดที่ข้อบริเวณโคนก้านใบของเถาใหม่พร้อมกับการเจริญของเถา โดยต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะออกดอกติดผลเมื่อต้นมีอายุประมาณ 4-5 เดือน หลังปลูกลงแปลง แต่ถ้าเป็นต้นที่เสียบยอดหรือปักชำจะสามารถออกดอกติดผลได้เร็วขึ้น
ผลเสาวรสเป็นผลเดียว สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 50-70 วันหลังติดผล มีหลายลักษณะ เช่น กลม รูปไข่ หรือผลรียาวขึ้นอยู่กับพันธุ์ เปลือกผลและเนื้อส่วนนอกแข็งไม่สามารถรับประทานได้ผลมี 2 สีคือผลสีม่วงและผลสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นจำนวนมากแต่ละเมล็ดจะถูกหุ้มด้วยรกซึ่งบรรจุน้ำสีเหลืองมีลักษณะเหนียวข้นอยู่ภายใน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีความเป็นกรดสูง และส่วนที่นำไปใช้บริโภคก็คือส่วนที่เป็นน้ำสีเหลืองนี้เอง
ชนิดและพันธุ์เสาวรส
โดยทั่วไปแล้วเสาวรสสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดผลสีม่วง และชนิดผลสีเหลืองซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ
1.เสาวรสชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis)
เสาวรสชนิดนี้ผิวผลจะเป็นสีม่วงผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ดอกสามารถผสมตัวเองได้ดีดอกจะบานในตอนเช้า ผลสุกมีรสหวานและกลิ่นหอมกว่าพันธุ์สีเหลือง แต่ผลมักจะมีขนาดเล็กกว่าคือเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4-5 เซนติเมตร น้ำหนัก 50-60 กรัมต่อผล
2.เสาวรสชนิดผลสีเหลือง (Deneger P. edulis Forma F. flavicarpa)
ลักษณะผิวผลจะมีสีเหลืองผลมีขนาดใหญ่กว่าชนิดผลสีม่วงคือเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 80-120 กรัมต่อผล เนื้อในให้ความเป็นกรดสูงกว่าชนิดสีม่วง จึงมีรสเปรี้ยวมากและใช้แปรรูป เป็นหลัก
เสาวรสชนิดผลสีเหลืองดอกจะบานในตอนเที่ยงส่วนใหญ่ผสมตัวเองไม่ติดต้องผสมข้ามต้นแต่ต้นมีทนทานต่อโรคต้นเน่า เถาเหี่ยว โรคไวรัสและทนต่อไส้เดือนฝอยมากกว่าพันธุ์สีม่วงจึงนิยมใช้เป็นต้นตอในการเสียบกิ่งของพันธุ์ม่วง
พันธุ์เสาวรสรับประทานสด
เสาวรสพันธุ์รับประทานสดที่มูลนิธิโครงการหลวง คัดเลือกได้และส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้ามี 2 พันธุ์คือเสาวรสรับประทานสดเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์สีม่วงทั้ง 2 พันธุ์ โดยคัดเลือกได้เมื่อปี พ.ศ. 2539 จากต้นที่เพาะเมล็ดจากเสาวรสสายพันธุ์ไต้เหวัน
1.พันธุ์รับประทานสดเบอร์ 1
ลักษณะผลเป็นรูปไข่สีม่วงอมแดง เมื่อตัดขวางผลจะเห็นว่ามีลักษณะเป็น 3 พู เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 5 เซนติเมตร น้ำหนักผลประมาณ 70-80 กรัมต่อผลรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ความหวานเฉลี่ยประมาณ 16 Brix
2.พันธุ์รับประทานสดเบอร์ 2
ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับพันธุ์เบอร์ 1 แต่สีผลจะเข้มและมีคุณภาพดีกว่าพันธ์เบอร์ 1 คือ รสชาติหวานและน้ำหนักต่อผลสูงกว่า โดยผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70-100 กรัมต่อผล ความหวานเฉลี่ยที่ประมาณ 17-18 Brix พันธุ์นี้เปลือกหนากว่าพันธุ์เบอร์ 1 จึงสามารถเก็บไว้ได้นาน
ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวง ได้เน้นให้เกษตรกรที่ปลูกเสาวรสใช้พันธุ์รับประทานเบอร์ 2 สำหรับปลูกเป็นการค้าเนื่องจากลักษณะเด่นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สำหรับพันธุ์ที่ใช้แปรรูปทั้งสีม่วงและสีเหลืองก็สามารถปลูกเพื่อรับประทานผลสดได้แต่ราคาของผลผลิตจะต่ำกว่าตามคุณภาพของผลผลิต
การขยายพันธุ์เสาวรส
วิธีการขยายพันธุ์
การปลูกเสาวรสรับประทานสดจะแตกต่างจากเสาวรสโรงงานที่ปลูกด้วยต้นกล้าจากการเพราะเมล็ด คือ ต้องรักษาให้เผลผลิตมีคุณภาพและรสชาติดี ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากพันธุ์เดิม ดังนั้นการปลูกจึงจำเป็นต้องใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีโดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.การเพาะเมล็ดสำหรับทำต้นตอ

ต้นตอที่ใช้ควรเป็นเสาวรสโรงงานชนิดพันธุ์สีเหลือง เนื่องจากมีความแข็งแรงและทนทานตอโรงแมลงได้ดี และเมล็ดที่จะนำมาเพราะควรคัดจากผลและต้นแม่ที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรคไวรัส นำมาล้างเอารกที่หุ้มเมล็ดออก นำมาผึ่งให้แห้งแล้วจึงนำไปเพาะแต่ไม่ควรเก็บเมล็ดไว้นานเกินไปเพราะจะทำให้ความงอกลดลง

การเพาะเมล็ดสามารถทำได้ทั้งในภาชนะ เช่น ถุงพลาสติกและตะกร้าหรือในแปลงเพาะกล้าโดยวัสดุเพาะใช้ดิน ปุ๋ยหมัก ขี้เถ้าแกลบและขุยมะพร้าว ผสมกันในสัดส่วน 2:1:1:1 ใช้วิธีโรยเมล็ดเป็นแถวแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะให้หน้าประมาณ 1 เซนติเมตร ระวังอย่าให้เมล็ดแน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า ปกติเมล็ดที่เพาะจะงอกภายใน 7-10 วัน หลังจากต้นกล้ามีใบจริง 1 ใบ ซึ่งอายุประมาณ 15-20 วันหลังเพาะจึงย้ายลงถุงปลูกขนาด 2.5 x 6 นิ้ว หรือแปลงปลูก ถ้าเป็นฤดูฝนหรือสามารถให้น้ำได้ทั้งนี้ขึ้นกับว้าจะเปลี่ยนยอกดเป็นพันธุ์ดีในเรือนเพาะชำหรือในแปลงปลูก ในระหว่างการเพาะกล้านั้นต้องมีการพ่นยาป้องกันกำจัดมดที่จะทำลายเมล็ดและแมลงที่เป็นเพาหะของโรคไวรัส เช่น เพลี้ยไฟและไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้ต้นกล้าปลอดจากโรคไวรัสและต้องให้ปุ๋ยช่วยเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็วขึ้น โดยอาจจะให้ปุ๋ยทางใบหรือใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือ 21-0-0ผสมน้ำรด หลังจากที่ต้นกล้ามีอายุประมาณ 2-3 เดือน จึงสามารถเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดีดได้
2.การเปลี่ยนยอดพันธุ์
เสาวรสเป็นพืชที่สามารถเปลี่ยนยอดได้ง่ายและทำได้ทุกฤดูกาล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้ 2 แบบคือ การเปลี่ยนยอดพันธุ์ต้นกล้าในถุงก่อนนำไปปลูกและการนำต้นตอไปปลูกในแปลงก่อนแล้วจึงเปลี่ยนพันธุ์ภายหลัง

2.1.การเปลี่ยนยอดต้นกล้าที่ปลูกในถุง

การเปลี่ยนยอดแบบนี้มีข้อดีคือทำได้ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เนื่องจากทำได้ในพื้นที่จำกัดและสามารถคัดเลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงสม่ำเสมอกันไปปลูก นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตได้เร็วขึ้นจึงเป็นวิธีการที่แนะนำให้ใช้การเปลี่ยนยอดนิยมใช้วิธีเสียบลิ่ม (Cleft grafting) ซึ่งทำได้ 2 แบบคือ

2.1.1 การเปลี่ยนยอดแบบใช้ยอดอ่อน

การเปลี่ยนยอดแบบนี้งานพัฒนาและส่งเสริมไม้ผล มูลนิธิโครงการหลวงได้พัฒนาขึ้นเพื่อลดการติดโรคไวรัสของต้นกล้า ปรับปรุงคุณภาพของต้นกล้าให้แข็งแรงสมบูรณ์สม่ำเสมอมากขึ้น ลดระยะเวลาในการเลี้ยงต้นกล้าในถุงปลูกให้สั้นลง เพื่อให้ระบบรากไม่เสียและให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องไม่ชะงัดการเจริญเติบโตหลังการเปลี่ยนยอด

ต้นตอที่เหมาะสำหรับเปลี่ยนยอดคืออายุ 1.5-2 เดือน หลังเพาะซึ่งจะมีใบประมาณ 5-7 ใบและต้นยังอ่อนอยู่ ทำการเตรียมแผลของต้นตอโดยตัดยอดให้เหลือใบ 3-4 ใบ ผ่าต้นตอลึก 1.5-2.0 เซนติเมตร นำยอดพันธุ์ที่เป็นปลายยอดอ่อน ความยาวประมาณ 5 เซนติเมตรมีใบ 2-3 ใบ มาปาดเป็นรูปลิ่มความยาวเท่ากับแผลของต้นตอ จากนั้นนำมาเสียบลงบนต้นตอผูกด้วยเชือกฟาง ยางยืดหรือใช้ตัวหนีบ เสร็จแล้วนำต้นใส่ไว้ในกระโจมพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นไม่ให้ยอดเหี่ยว หลังจากนั้น 7 วัน ยอดพันธุ์ดีจะติดสามารถนำออกจากกระโจมและเลี้ยงให้แข็งแรงอีก 20-30 วันก่อนนำไปปลูก

2.1.2 การเปลี่ยนยอดแบบใช้ตาข้าง

การเปลี่ยนพันธุ์แบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งมีวิธีการเช่นเดียวกับการเปลี่ยนยอดแบบใช้ยอดอ่อน แต่ต้นตอที่ใช้จะต้องมีอายุมากกว่าคือประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้ต้นตอมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดีที่ใช้ โดยตัดเถาให้มีตาข้าง 2 ตาและตัดใบออกให้เหลือครึ่งใบ ในกรณีที่ไม่มีกระโจมการเปลี่ยนยอดแบบนี้สามารถใช้ถุงครอบยอดเป็นต้นๆ ได้ หรือใส่ในกระโจมขนาดใหญ่ได้ เพราะไม่ต้องรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอมากนัก

2.2 การเปลี่ยนยอดพันธุ์ในแปลงปลูก

วิธีการนี้จะทำหลังจากที่นำต้นตอลงไปปลูกในแปลงแล้ว ซึ่งมีข้อเสียคือยากแก่การเปลี่ยนพันธุ์และดูแลรักษาเนื่องจากใช้พื้นที่มาก แต่จะเหมาะสำหรับพื้นที่ปลูกที่อาศัยน้ำฝน เพราะสามารถปลูกต้นตอซึ่งมีความแข็งแรงกว่าต้นที่เปลี่ยนพันธุ์ลงไปก่อนในช่วงปลายฤดูฝนแล้วจึงทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ภายหลัง

การเปลี่ยนยอดสามารถทำได้ตั้งแต่หลังปลูกต้นตอไปแล้วประมาณ 1 เดือนจนกระทั่งเถาเจริญถึงค้างแล้ว โดยวิธีการเสียบลิ่ม (Cleft grafting) เช่นเดียวกับการเปลี่ยนพันธุ์ในถุงปลูก แต่กิ่งพันธุ์ที่นั้นจะเอาใบออกทั้งหมดและต้องคลุมด้วยถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นและหุ้มด้วยกระดาษป้องกันความร้อนจากแสงแดด นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนยอดพันธุ์ได้โดยวิธีการเสียบข้าง (Side grafting) ได้ หลังการเปลี่ยนยอดให้รักษาใบของต้นตอไว้แต่ต้องหมั่นปลิดยอดที่จะแตกจากตาข้างของต้นตอออก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับยอดพันธุ์ดี
การวางแผนการขยายพันธุ์และการผลิตต้นกล้า


การขยายพันธุ์และผลิตต้นกล้าเสาวรสนั้นต้องมีการวางแผนให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการปลูก ฤดูกาลและนิสัยการเจริญเติบโตของเสาวรสโดยเฉพาะระยะเวลาให้ผลผลิต การวางแผนที่ถูกต้องจะทำให้เสาวรสให้ผลผลิตอย่างเต็มที่และเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาน้อยที่สุด โดยต้องวางแผนผลิตต้นกล้าให้มีอายุเหมาะสมพอดีเมื่อถึงเวลาปลูกที่ได้กำหนดไว้ว่าเหมาะสมสำหรับรูปแบบการปลูกต่างๆ เช่นปลูกแบบให้น้ำหรือการปลูกแบบอาศัยน้ำฝน การผลิตต้นกล้าเร็วเกินไปจะทำให้ต้องเลี้ยงต้นไว้ในถุงนานจะมีปัญหาระบบรากไม่ดีและต้นทุนการดูแลเพิ่มขึ้น การผลิตต้องล้าช้าก็จะทำให้ต้นกล้าไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอเพียงกับระยะเวลาปลูกที่เหมาะสม
การปลูกเสาวรสรับประทานสด
เสาวรสรับประทานสดมีวิธีการปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาเช่นเดียวกับเสาวรสโรงงาน แต่ต้องเพิ่มความประณีตในการปฏิบัติดูแลรักษาบางอย่าง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปกติแล้วเสาวรสเป็นพืชที่มีอายุยาวนานหลายปี แต่โดยทั่วไปแล้วมีการปลูกกัน 2 ระบบ คือ การปลูกแบบเก็บเกี่ยว 1 ฤดูกาลต่อการปลูก 1 ครั้ง และเก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาลต่อการปลูก 1 ครั้ง แต่ระบบที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ในปัจจุบันคือแบบปลูก 1 ครั้ง เก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาล เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนคือลงทุนทำค้าง 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนานขึ้น
การผลิตและการตลาดเสาวรส
เนื่องจากเสาวรสรับประทานสดเป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงวิจัยได้และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ผลิต ปัจจุบันจึงมีผลผลิตจากมูลนิธิโครงการหลวงเท่านั้นที่ออกสู่ตลาด โดยมีผลผลิตส่งจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541/2542(ส.ค.2541-ก.พ.2542) จำนวน 3,905.5 กิโลกรัม ปีพ.ศ.254/2543(มี.ค.2545-ก.พ.2543) จำนวน 7,012 กิโลกรัมและในปี พ.ศ.2543/2544 (มี.ค.2543-ก.พ.2544) จำนวน 37,925 กิโลกรัม แต่พบว่าปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทำให้ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเพิ่มการผลิต ในขณะที่ราคาผลผลิตอยู่ในระดับที่ดีคือเฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 10-12 บาท ซึ่งสูงกว่าเสาวรสโรงงานถึง 3-4 เท่า

จากสภาพดังกล่าวจึงคาดว่าเสาวรสรับประทานสดมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งได้ ทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นที่ต่ำ แต่ทั้งนี้การขยายการผลิตในระยะแรกคือ 2-3 ปีข้างหน้าต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยคาดว่าไม่ควรเกิน 200 ตันต่อไป เพื่อรักษาระดับราคาของผลผลิตไม่ให้ลดต่ำลงและเพื่อศึกษาความต้องการของตลาดในอนาคตข้างหน้าให้แน่นอนอีกครั้ง

การปลูกเสาวรสนั้นมีปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือการใช้ไม้ทำค้างดังนั้นการส่งเสริมปลูกต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ามาเพื่อใช้ทำค้าง การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ไผ่ควบคู่กับการปลูกเสาวรสจะเป็นประโยชน์มาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น