วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
แม่ชีเทเรซา
แม่ชีเทเรซา
เป็นแม่ชีในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือ และผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย จนเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ท่านจึงได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหลังจากที่ท่านถึงแก่กรรม สำนักวาติกัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้ท่านเป็น "บุญราศี" ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นของการเป็นนักบุญ ผ่านพิธีบุญราศีในนามว่า "บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา"
ภารกิจการกุศล
เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ขณะที่แม่ชีเทเรซากำลังนั่งรถไฟกลับไปยังสำนักชีที่ทาร์จีลิง ระหว่างทางเธอก็ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งเนื้อหาที่พระเจ้าพูดกับแม่ชีเทเรซาในขณะนั้น ทำให้แม่ชีเทเรซาตัดสินใจขออนุญาตไปทำงานในสลัม เพื่อช่วยเหลือคนยากจน แต่การทำแบบนั้นถ้าหากทำโดยไม่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจะถือว่ามีความผิดทางศาสนา แม่ชีเทเรซาจึงขอให้บาทหลวงใหญ่ (หัวหน้าบาทหลวง ในชุมชนหนึ่งๆ ซึ่งอาจอยู่ตั้งแต่ระดับเมือง ภูมิภาค หรือประเทศ จะมีเพียงหนึ่งท่าน) ขอร้องไปยังพระสันตะปาปา ให้อนุญาตแม่ชีเทเรซาเป็นกรณีพิเศษ
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) แม่ชีเทเรซาได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้ไปทำงานในสลัมได้ แต่ก่อนนั้นต้องให้มีความรู้เพียงพอเสียก่อน ซึ่งเธอก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาพยายาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองปัตนา รัฐพิหาร เมื่อศึกษาจบแม่ชีเทเรซาก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนกลางแจ้งในสลัม มีเด็กๆ ให้ความสนใจมาเรียนกันมามากมาย หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีศิษย์เก่าจากโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรียมาขอบวชเป็นผู้ช่วยแม่ชีเทเรซา โดยคนแรกที่มาขอบวช คือ "สวาชินี ดาส" เมื่อบวชแล้วได้รับสมญาทางศาสนาว่า "แม่ชีแอ็กเนส" และไม่นานก็มีศิษย์เก่ามาบวชเพิ่มอีกถึง 10 คน
ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) บาทหลวงใหญ่ได้ตั้งกลุ่มของแม่ชีเทเรซาให้เป็นองค์กรอิสระทางศาสนา มีชื่อว่า "คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า" (Missionaries of Charity) โดยแม่ชีเทเรซาได้เป็นหัวหน้าองค์กร ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาผู้คนส่วนใหญ่มักเรียกแม่ชีเทเรซาว่า คุณแม่เทเรซา (Mother Teresa)
วันหนึ่งแม่ชีเทเรซาได้คิดที่จะสร้างบ้านหลังหนึ่ง เพื่อให้ผู้หิวโหยที่นอนรอความตายอยู่ข้างถนนนั้นได้มานอนตายอย่างสงบ และด้วยเหตุนี้ท่านจึงขอยืมให้วัดกาลีของศาสนาฮินดูใช้เป็น "บ้านของผู้รอความตาย" (Home for the Dying) โดยเริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) แต่ชาวฮินดูพอสมควรที่ไม่เห็นด้วยกับการที่คุณแม่เทเรซาซึ่งเป็นชาวคริสต์ จะมาใช้วัดของชาวฮินดูเป็นสถานที่ แต่เมื่อผู้บัญชาการตำรวจเข้าไปคุยกับคุณแม่เทเรซา ก็ได้ผลสรุปว่าคุณแม่เทเรซายังใช้สถานที่วัดกาลีอยู่ได้ต่อ
เมื่อปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านให้แก่คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้า เพื่อให้ทางคณะฯ ได้ใช้งานบ้านให้เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่เทเรซาและส่วนรวม คุณแม่เทเรซาได้ตัดสินใจใช้บ้านหลังนี้ในการรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตั้งชื่อว่า "บ้านเด็กใจบุญ" (Children's Home of the Immaculate Heart) [5]
พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) คุณแม่เทเรซาเริ่มใช้รถพยาบาลเคลื่อนที่ออกรักษาผู้ป่วยที่เป็นชาวไร่ชาวนา โดยโรคที่ชาวไร่ชาวนาป่วยมากที่สุดคือ โรคเรื้อน แต่ในช่วงนั้นสังคมอินเดียยังมองเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงคิดว่าคนเองไม่มีค่า คุณแม่เทเรซาจึงเริ่มคิดถึงปัญหานี้
พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) ที่ทำการของแม่ชีเทเรซาที่อยู่นอกประเทศอินเดียเริ่มเปิดทำการ มีทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย
ไม่กี่ปีต่อมา ผู้ว่าการรัฐเบงกอลตะวันตกได้ให้คุณแม่เทเรซายืมใช้แปลงที่ดินที่เมืองอาซันซอลขนาด 140,000 ตารางเมตร (ประมาณ 87.5 ไร่) เพื่อให้ใช้เป็นสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน คุณแม่เทเรซาได้แบ่งสรรที่ดินไว้อย่างลงตัว แต่ไม่มีเงินจะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ได้ออกแบบไว้ คุณแม่เทเรซานั่งครุ่นคิดอยู่สักพักก็นึกขึ้นได้ว่าพระสันตะปาปาเคยมอบรถยนต์เปิดประทุนสีขาวบริสุทธิ์ชั้นดี ถ้าขายเฉยๆ จะได้ราคา 100,000 รูปี (ประมาณ 400,000 บาท) แต่นั่นยังไม่เพียงพอ คุณแม่เทเรซาตัดสินใจทำสลาก โดยเอารถคันนั้นเป็นรางวัล ทำสลาก 5,000 ใบ ขายสลากใบละ 100 รูปี (ประมาณ 400 บาท) ใครถูกรางวัลจะได้รับรถพระสันตะปาปาไป การขายสลากแบบนี้ คณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซา ได้รับเงินถึง 500,000 รูปี (ประมาณ 2,000,000 บาท) ในที่สุดคณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซาก็ได้สร้างที่ดินขนาดกว่า 80 ไร่ ให้เป็นหมู่บ้านในฝันของผู้ป่วยโรคเรื้อนได้สำเร็จใน พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านสันติสุข" มีทั้งโรงพยาบาลและที่อยู่ทั้งสำหรับเหล่าแม่ชีและเหล่าผู้ป่วย มีผู้ป่วยโรคเรื้อนขอเข้ารับการรักษาที่หมู่บ้านสันติสุขนี้มากกว่า 15,000 คน
ไม่นานหลังจากนั้น แม่ชีเทเรซา ก็เปิดที่ทำการอีกแห่งหนึ่ง คราวนี้เป็นการนำกาบมะพร้าวมีรีไซเคิล โดยนำใยมะพร้าวด้านในมาผลิตเป็นสินค้า ตั้งแต่แปรงขัดหม้อ จนถึงพรมนุ่มๆ สินค้าบางชิ้นมีคุณภาพดี ก็สามารถนำไปขายในเมืองได้
ไม่นานต่อมา คุณแม่เทเรซาเมื่อรู้ว่า สายการบินต่างๆ จะจัดการอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือโดยการทิ้งทั้งหมด จึงไปขอให้บริษัทสายการบินแอร์อินเดีย มอบอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือมาเป็นอาหารแก่เด็กๆ ใน บ้านเด็กใจบุญ
ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) คุณแม่เทเรซาได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในฐานะ "สำหรับการอาสาต่อสู้เพื่อลดความยากจนทุกข์ยากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความสงบสุขและสันติ" (for work undertaken in the struggle to overcome poverty and distress, which also constitute a threat to peace.) นอกจากนี้ คุณแม่เทเรซาปฏิเสธงานเลี้ยงฉลองที่ท่านได้รับรางวัลโนเบล และขอใหผู้ที่ทำเค้กฉลองมาแล้ว นำเค้กไปมอบให้คนยากคนจน
คุณแม่เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ซึ่งก็ได้ตระเวนปราศรัยไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ เนื้อหาส่วนใหญ่คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การรังเกียจคนจรจัด การกลั่นแกล้งประทุษร้ายกันในญี่ปุ่น
พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) อิสราเอลมีสงครามกับองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ จนเกิดการสู้รบรุนแรงในแถบเอเชียตะวันตก คุณแม่เทเรซาก็เดินทางเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดค้างในสถานที่ต่างๆ มาได้ 37 คน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น